26 มี.ค. Thailand Roadmap AI
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) หมายถึง เทคโนโลยีการสร้างความสามารถให้กับเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยหลักของอัลกอริทึมและกลุ่มเครื่องมือทางสถิติ เพื่อใช้ในการสร้างซอฟต์แวร์ที่สามารถเรียนรู้ เลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้ หรือในบางกรณีสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยี AI ได้ถูกนำไปใช้ในการช่วยขับเคลื่อนในแต่ละภาคส่วน รวมไปถึงภาคเศรษฐกิจ ซึ่งในหลายประเทศได้มีการนำไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการประยุกต์ใช้งานด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบอุตสาหกรรมให้มีความฉลาด มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลง ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อเตรียมความพร้อม สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการแข่งขันของประเทศไทยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบของการพัฒนาแบบ BCG Economy โดยมีรายละเอียด ดังนี้
วิสัยทัศน์และเป้าประสงค์: “ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570” โดยมีเป้าประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างคนและเทคโนโลยี 2.การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 3.การสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1: การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3: การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์
ยุทธศาสตร์ที่ 4: การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ยุทธศาสตร์ที่ 5: การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน
เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเกิดเป็นรูปธรรม และให้สามารถสอดรับกับบริบทความพร้อมของประเทศไทย รวมถึงเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จึงได้กำหนดเป็น 2 ระยะ ได้แก่
(1) ระยะเร่งด่วน (เริ่มดำเนินการปี พ.ศ. 2565 – 2566): จำนวน 8 โครงการนำร่อง ซึ่งมุ่งเน้นโครงการนำร่องด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศด้านโดยคาดว่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์หลักใน 3 ด้านคือ
1. มีกลไกในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงเกิดการกระตุ้นมูลค่าจากการตระหนักและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
2. มีบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีศักยภาพที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (The New S-Curve) ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. เกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ให้เป็นไปตามแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย อย่างต่อเนื่องในอนาคตได้
(2) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 – 2570): มุ่งเน้นการผลักดัน ขยายผลการประยุกต์ใช้งานกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยยกระดับมูลค่าของธุรกิจ หรือบริการที่ดีขึ้น การส่งเสริมความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ AI ให้แพร่หลายในสาขาเป้าหมาย และภาครัฐ การส่งเสริมและสนับสนุนระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาและการใช้งาน AI ในภาคการวิจัย และการประยุกต์ใช้งาน
ภาพรวมผลกระทบต่อประเทศที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2570 ได้แก่
(1) มีมูลค่าที่เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีจำนวนทรัพยากรบุคคลที่สามารถปรับทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill/ Upskill) ทางด้านดิจิทัล และ AI เพื่อรองรับอาชีพและการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น
(2) GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมูลค่าหรือรายได้ของผลิตภัณฑ์และบริการในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการ
(3) ประชาชนในประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม จากการที่หน่วยงานภาครัฐนำ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานและการให้บริการ
(4) ประชาชนมีความเข้าใจและสามารถใช้ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ได้ในวงกว้าง ส่งผลให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ได้เพื่อสร้างประโยชน์และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สนใจข้อมูล/บริการเพิ่มเติมติดต่อ: 02-247-7229
e-Mail: sm@merlinssolutions.com
#GenerativeAI#AIFuture#AIInnovation#CreativeAI#TechTrends2024#SmartTechnology#thailandroadmapai
ที่มา: แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
No Comments