12 ต.ค. องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมองค์กร หรือ Enterprise Architecture
Enterprise Architecture (EA)
EA ก็เหมือนการสร้างแบบแปลนบ้านซึ่งก่อนจะลงมือสร้างบ้าน เจ้าของบ้านจะต้องบอกความต้องการ อาทิ รูปแบบของบ้าน งบประมาณ ให้กับสถาปนิกทราบเพื่อดำเนินการออกแบบบ้านวาดแปลน และสร้างแบบจำลองบ้านให้กับเจ้าของบ้านเพื่อนำไปสร้างต่อไป เช่นเดียวกันกับการพัฒนา EA ที่จะต้องจัดทำให้สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ โดยอาศัย Model และ Diagram ต่าง ๆเข้ามาเพื่อให้เห็นภาพขององค์กรที่ชัดเจนขึ้นไม่ว่าจะเป็นในแง่ของกระบวนการการทำงานข้อมูล ระบบสารสนเทศ และปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ โดยในอนาคตหากองค์กรต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง EA ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่จะให้องค์กรทราบว่าหากมีการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มเติมรายละเอียดส่วนประกอบขององค์กรจะมีผลกระทบต่ออะไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
Business Architecture:
เป็นโครงสร้างด้านธุรกิจขององค์กร โดยเป็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจขององค์กร ภารกิจหลักที่สนับสนุนเป้าหมายขององค์กร กระบวนการทำงานที่สนับสนุนภารกิจหลัก และความสัมพันธ์ระหว่างภารกิจหลัก รวมถึงปัญหาและโอกาสของการดำเนินธุรกิจ
Data Architecture:
เป็นโครงสร้างด้านข้อมูลขององค์กร โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่สนับสนุนภารกิจหลัก และกระบวนการทำงาน รวมถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลระหว่างภารกิจหลัก
Application Architecture:
เป็นโครงสร้างด้านระบบสารสนเทศ โดยเป็นการวิเคราะห์ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนภารกิจหลัก และกระบวนการทำงาน กำหนดสถาปัตยกรรมของระบบสารสนเทศ กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบสารสนเทศ ประเมินความสมบูรณ์ของระบบสารสนเทศในปัจจุบัน รวมถึงกำหนดแนวทางในการพัฒนาให้ระบบสารสนเทศต่าง ๆ ขององค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้
Technology Architecture:
เป็นโครงสร้างด้านพืนฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเป็นการวิเคราะห์ ออกแบบเทคโนโลยีรองรับการทำงานของระบบสารสนเทศต่าง ๆ ขององค์กร อาทิ ระบบเครือข่าย ระบบปฏิบัติการ ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่าย ระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นมาในอนาคต
ในปัจจุบันองค์กรสมัยใหม่ได้ให้ความสำคัญกับไอทีมาก ดังนั้นงบประมาณจำนวนไม่น้อยขององค์กรในแต่ละปีจะหมดไปกับการลงทุนทางด้านไอที ซึ่งหลายๆโครงการที่ได้ลงทุนไปนั้น ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร บ้างก็ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ บ้างก็ซ้ำซ้อนกับระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว บ้างก็ขัดแย้งกับกระบวนการทำงานที่ดีในปัจจุบัน
การที่องค์กรจัดทำ EA ทำให้ทราบได้ว่า โครงการใดมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ หรือการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงใด โดยในภาวะปัจจุบันที่งบประมาณการลงทุนมีจำกัด องค์กรจะทราบได้อย่างไรว่าโครงการใดจะทำให้เกิดการปรับปรุงกับองค์กรได้มากที่สุด แล้วถ้าทำไปแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างในองค์กร ถ้าปราศจาก Blueprint ตัวนี้ก็เปรียบเสมือนกับการขาดภาพเอ็กซ์เรย์ขององค์กรและจะไม่ทราบเลยว่าองค์กร มีความผิดปกติในที่ใด และที่ใดควรจะได้รับการแก้ไขก่อน
No Comments